ยินดีต้อนรับ สู่โครงงานชาชัก:)

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การชงชาชัก

        



            หลักการชงชาเบื้องต้น คือ ไม่ควรแช่ชานาน ปกติเรามักจะใส่ชาเติมน้ำร้อนแล้วก็แช่ทิ้งไว้ทั้งวันอยากดื่มเมื่อไหร่ก็รินน้ำชาใส่แก้ว แล้วดื่ม และถ้าน้ำชาไม่อุ่นก็เติมน้ำร้อนหน่อยให้อุ่นขึ้นใช่ไหมคะ? วิธีการเหล่านี้เองทำให้หลายคนดื่มชาแล้วรู้สึกว่าท้องผูก หรือ ตาค้างนอนไม่หลับ เพราะการแช่ชานานๆ ทำให้สารต่างๆ เช่น แทนนิน คาเฟอีน มีปริมาณมากเกินไป เป็นต้น
        การเรียนรู้จากคนรุ่นก่อนอาม้าอากงท่านทั้งหลายเป็นนักวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์โดยตรง ภายหลังจึงได้มีการค้นพบว่า เมื่อเราแช่ชาในน้ำร้อนนานๆ แช่ชาเข้มๆ จะมีสารแทนนินออกมาในปริมาณมากพอที่จะไปฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เราท้องเสียได้ อาการท้องเสียก็จะหยุดไปเมื่อเราทานชาเข้มๆ นั่นเองค่ะ คราวนี้ชงชาให้ถูกวิธีและดื่มชาให้ถูกกับเวลาที่ควรดื่ม ชาก็จะมีแต่ประโยชน์แล้วจริงไหมคะ?
        สำหรับคาเฟอีน มีลูกค้าชาวฝรั่งเศส กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า เค้ามักจะแช่ชานานๆ ให้รสเข้มๆ และดื่มยามบ่ายเพราะเค้าต้องการคาเฟอีนจากใบชา เพื่อทำให้เค้าสดชื่นในยามบ่าย เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในการทำงานของเค้า อืมม์ นี่ก็เป็นอีกแนวคิดสำหรับผู้ที่ต้องการดื่มชาเพื่อความสดชื่นอย่างธรรมชาติ
        
         ความคุ้นเคยในวิธีชงชาใบแบบเดิม ทำให้บางครั้งเราไม่ได้รับรสชาที่แท้จริง การชงชาแต่ละชนิดมีความเฉพาะที่แตกต่างจากหลักการเบื้องต้นไม่มากนัก แต่ก็มีความละเอียดอ่อนของตัวชาเอง ซึ่งการชงชาให้ได้รสอร่อยแบบง่ายๆ ได้ทั้งประโยชน์และประหยัดนั้นมีเคล็ดลับดังนี้ แยกตามวิธีการชงที่เหมือนกันในแต่ละชนิดนะ

ที่มาของชาชัก

การดื่มชาถือเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนเกี่ยวข้องโยงใยกับประเพณีและวัฒนธรรมของมนุษย์ในหลากหลายเชื้อชาติทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีการทำพิธีชงชา ซึ่งถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าการดื่มชาและร้านน้ำ ชามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน คนตะวันตกเรียกชาว่า “ที” (tea) ซึ่งเชื่อว่า มาจากภาษาจีน ที่เรียกชาว่า “เต๊” (tay) โดยออกเสียงเป็น “เท” และ เพี้ยนมาเรื่อยๆจนกลายเป็น “ที” ส่วนชาวมาเลย์จะเรียกชา “teh” ออกเสียงว่า“เตฮ์” ซึ่งจะเห็นได้ว่าล้วนแต่มีการออกเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่ละชาติ แต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีกรรมวิธีการชงชาที่แตกต่างกันออกไป พี่น้องมุสลิมทางภาคใต้มีการ ชงชาในแบบที่เรียกว่า “ชา ชัก” ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการชงชาแบบมลายู

“Teh Tarik” หรือ “เตฮ์ ตาเระ” สำเนียงเสียงถิ่นมลายู ซึ่งหมายถึง “ชาชัก” เป็วัฒนธรรมการกินที่พบเห็นได้ทั่วไปแถบคาบสมุทรมลายูทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่อยู่คู่คนใต้มานาน ความโดดเด่นของเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ที่รสชาติที่เข้มข้น หอมหวาน กลมกล่อม ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างชา กับ นมข้นและนมสด หรือนมแพะชงกับน้ำร้อน รวมถึงลีลาท่าทางการชงชาอันแปลกตาและมี เอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ทำให้ชาชักมีสีสันที่สวยงามไปด้วยองค์ประกอบสามชั้น ได้แก่ นม ชา และ ฟอง
 
การชงชาชัก อาศัยอุปกรณ์เพียงกระบอกชงชา 2 กระบอก และสองแขนที่แข็งขันสลับรับ-ส่งส่วนผสมในกระบอกชงให้ตรงจังหวะตามแรงโน้มถ่วงของพื้นโลก ด้วยท่วงท่าที่ชวนมอง กลายเป็น “ชา” (แต) ที่ถูก “ชักเย่อ” (ตาเระ) เพื่อให้ชานมเกิดฟอง และมีความยืดเหนียวเป็นสายยาว รสละมุนของฟองนมและลีลาท่าทางของคนชงชา เป็นเหมือนการแสดงสดเพื่อให้เห็นศิลปะของการชงชา จึงเป็นจุดสร้างความสนใจให้กับผู้พบเห็นได้ง่ายดาย

วิธีการชงชาชักเริ่มจากนำน้ำสะอาดใส่หม้อต้มให้เดือดจัด แล้วตวงผงชาตามสัดส่วนตามสูตรของแต่ละร้านใส่ลงไป ต้มแล้วลดไฟ จากนั้นเคี่ยวผงชาจนได้ที่ จากนั้นกรองเอากากชาออกให้หมด แล้วนำน้ำชาที่ได้มาใส่ภาชนะเตรียมไว้ เมื่อใส่ส่วน ผสมน้ำชา นมสด นมข้นหวาน ตามสัดส่วนลงในกระบอกชา ผู้ชงชาหรือชักชาจะถือกระบอกชาไว้ในมือทั้งสองข้างข้างละใบ จากนั้นจะเทชาจากมือบนสู่มือล่าง เป็นการ เทชากลับไปกลับมาระหว่างมือทั้งสองข้างโดยให้มือที่ถือกระบอกชาด้านหนึ่งอยู่ระดับสูงเหนือศีรษะสุดปลายแขน แล้วค่อยๆเทชาลงมาเป็นสาย น้ำชาจะพลิ้วสวยงาม ทิ้งตัวดิ่งสู่กระบอกชาใบล่างที่คอยรองรับอยู่ ทำเช่นนี้สลับไปมา 2 - 3 ครั้ง จนส่วนผสมทั้งหมดกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะได้ชาที่มีฟองอากาศหอมกรุ่น รสชาตินุ่ม กลมกล่อมยิ่งขึ้น และอุ่นพอดีที่จะจิบพร้อมรับประทานกับโรตี เป็นคู่อาหารว่างตามแบบฉบับชาวไทยมุสลิมซึ่งเข้ากันลงตัวพอดี

สำหรับที่มาที่ไปของเครื่องดื่มชนิดนี้ตามตำนานเล่าขานกันมาว่าเกิดจากชายหนุ่มอิสลามที่เกิดใกล้ตะเข็บชายแดนที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของร้านน้ำชาเขาจึงเดินทางเข้าไปหางานในประเทศมาเลเซีย และได้งานที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง ณ ที่นั่นเองที่เขาได้พบ และรู้จักกับลูกสาวแสนสวยของเจ้าของร้านจนกลายเป็นความรัก แต่กลับถูกกีดกันโดยพ่อแม่ของสาวเจ้า พร้อมกับสบประมาทชายผู้นี้อีกว่า
“รอให้ชักชาได้ไม่ขาดสายและฟาดโรตีให้เหมือนผีเสื้อบิน” เหมือนที่พ่อของหญิงคนรักทำได้เสียก่อนแล้วค่อยมาสู่ขอลูกสาว ด้วยแรงรักและความมุมานะที่อยากจะลบคำสบประมาท ทำให้เขาฝึกฝนการชักชาและฟาดโรตีด้วยความเพียรพยายามจนกระทั่งในที่สุดความพยายามของเขาก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จจนกลายเป็น ชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีฝีมือในการชักชาได้สวยงาม และไม่ขาดสาย ฟาดโรตีได้แผ่กว้างและบินว่อนเสมือนท่วงทำนองขยับปีกของผีเสื้อที่สวยงามและสามารถชนะใจพ่อแม่ของสาวคนรัก และได้ครองคู่อยู่กับเธออย่างมีความสุข และชายหนุ่มก็ได้ให้สัญญากับสาวคนรักในคืนวันวิวาห์ว่า “พี่จะรักเธอให้เหมือนกับสายน้ำชา ซึ่งจะไม่มีวันขาดสาย” และนี่คือที่มาของเครื่องดื่มชักเย่อ...ตำนานสายใยแห่งความรัก